ISSN 1513-038X (Print)
ISSN xxxx-xxxx (Online)
RSUJET
วารสารวิศวกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต
https://rsujet.rsu.ac.th
. Vol.22 No.1 , January - June 2019.
เปรียบเทียบเตาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้น้ำและน้ำมันปาล์มเป็นสารทำงาน
วรรณี เอกศิลป์, ศิริกุล จันทร์สว่าง, มนชัย แสนสามารถ, อัษศดิณย์ จ่ายเจริญ, สุริยะ กันศิริ, and ชาญชัย อรุณโรจน์
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาสมรรถนะทางความร้อนของเตาพลังงานแสงอาทิตย์ ออกแบบเตาและทดสอบโดยการเปรียบเทียบสารทำงานระหว่างที่เป็นน้ำและน้ำมันปาล์ม โดยใช้ความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียว ระบบมีส่วนประกอบหลักเป็น แผงรับรังสีแสงอาทิตย์ ถังสะสมความร้อน และภาชนะประกอบอาหาร แผงรับรังสีแสงอาทิตย์เชื่อมต่อกับถังสะสมความร้อนโดยหันหน้าไปทางทิศใต้ทำมุม 15o กับแนวราบ โดยแผงรับแสงอาทิตย์ทำด้วยแผ่นสังกะสีหนา 1 มิลลิเมตร ยาว 670 มิลลิเมตร ท่อทองแดงขนาด 19.1 มิลลิเมตร ยาว 642 มิลลิเมตร จำนวน 6 ท่อ พ่นด้วยสีดำด้าน ขนาดพื้นที่รับแสงอาทิตย์ 0.27 ตารางเมตร ปิดด้วยกระจก 2 ชั้นหนา 5.0 มิลลิเมตร ถังสะสมความร้อนขนาด 8.33 ลิตร หุ้มด้วยฉนวนกันความร้อนหนา 10 มิลลิเมตร โดยให้สารทำงานที่เป็นน้ำและน้ำมันปาล์มหมุนเวียนตามธรรมชาติระหว่างแผงรับรังสีแสงอาทิตย์และถังสะสมความร้อนแบบระบบปิด และถ่ายเทความร้อนไปยังภาชนะประกอบอาหาร ได้ทำการทดลองประกอบอาหารชนิดต่าง ๆ ได้แก่ หุงข้าว ทอดเนื้อหมู และ ทอดไข่ไก่ จากการทดลองที่สภาวะเดียวกันสารทำงานที่เป็นน้ำมันปาล์มให้อุณหภูมิสูงกว่าสารทำงานที่เป็นน้ำ ผลการทดลองสารทำงานที่เป็นน้ำได้อุณหภูมิสูงสุดในหม้อประกอบอาหารและถังสะสมความร้อนเป็น 70 และ 71 องศาเซลเซียส สารทำงานที่เป็นน้ำมันปาล์มได้อุณหภูมิสูงสุดในหม้อประกอบอาหารและถังสะสมความร้อนเป็น 83.7 องศาเซลเซียส และ 85.5 องศาเซลเซียส เตาพลังงานแสงอาทิตย์มีสารทำงานที่เป็นน้ำมันปาล์มสามารถทำให้อาหารสุกได้ ส่วนเตาพลังงานแสงอาทิตย์มีสารทำงานที่เป็นน้ำไม่สามารถทำให้อาหารสุกได้
Keywords: เตาพลังงานแสงอาทิตย์, แผงรับรังสีแสงอาทิตย์, ถังสะสมความร้อน