ISSN 1513-038X (Print)
ISSN xxxx-xxxx (Online)
RSUJET
วารสารวิศวกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต
https://rsujet.rsu.ac.th
. Vol.23 No.2 , July - December 2020.
ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อประเมินศักยภาพระบบการผลิตแก๊สชีวภาพของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและเอทานอล
ศิริอร บุญญวนิช, ปิ่นอนงค์ ธนิกกุล, ปรมัตถ์ จันทรโคตร, อุบลรัตน์ ศิริสุขโภคา, and นิพนธ์ พิสุทธิ์ไพศาล
Abstract
การศึกษาศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและเอทานอลโดยการสำรวจโรงงานจำนวน 145 โรงงาน แล้วนำมาแสดงผลบนแผนที่ประเทศไทยด้วยโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการภาพถ่าย ชื่อ และตำแหน่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงระบบผลิตแก๊สชีวภาพด้วยการขยายภาพที่มีความละเอียดสูง ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตแก๊สชีวภาพต่างๆ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า โรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังจำนวน 102 โรงงาน มีปริมาณน้ำเสียเฉลี่ยเท่ากับ 4,697 ลบ.ม. ต่อวัน (130 - 30,000 ลบ.ม. ต่อวัน) นิยมใช้ระบบยูเอเอสบีเพื่อผลิตแก๊สชีวภาพและมีการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดคือเพื่อผลิตความร้อน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมเอทานอลจำนวน 43 โรงงาน มีปริมาณน้ำเสียเฉลี่ยเท่ากับ 3,150 ลบ.ม. ต่อวัน (300 - 15,000 ลบ.ม. ต่อวัน) นิยมใช้ระบบแบบบ่อปิดโดยไม่ใช้อากาศดัดแปลง (Modified Cover Lagoon, MCL) เพื่อผลิตแก๊สชีวภาพและมีการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุด คือนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพและการใช้ประโยชน์แก๊สชีวภาพ พบว่า อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังมีศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพจากน้ำเสียมากกว่าอุตสาหกรรมเอทานอล โดยข้อมูลการศึกษาศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพจะถูกบันทึกไว้ในโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ที่ศึกษาระบบผลิตแก๊สชีวภาพ
Keywords: แก๊สชีวภาพ, พลังงานหมุนเวียน, ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์, โปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ